วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551

สุดยอดรถแต่ง Drag Super Civic Space Frame Dragster "8 วิ ถ้วนๆ"


SUPER CIVIC SPACE FRAME DRAGSTER "8 Sec. Class"
Full Space Frame + Swap To"4G63" 1 In Thailand !!!

หลังจากงาน SOUPED UP THAILAND RECORDS 2007 ที่ผ่านมา ก็มี"ควันหหลง"เก็บตกรถแรง ๆ ให้ท่านได้ชมกัน เป็นปกติที่จะต้องมี"ตัวแปลก" ที่เกิดขึ้นมาใหม่ ๆ กันมากมาย คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามี CIVIC EK9 สีส้มอยู่คันหนึ่ง ที่เพิ่งเสร็จออกมาสด ๆ ร้อน ๆ และสามารถทำเวลาได้"8.695 วินาท" ซึ่งไม่เลวเลยทีเดียว สามารถฟันตำแหน่ง"อันดับ 5" ทั้งในรุ่น Over All และ Super Max ก็เป็นผลงานที่สวยงาม รถคันนี้เป็น"งานสร้าง" โดยฝีมือ"คนไทย" เหมือนกัน แถมยังใช้ขุมพลังต่างค่ายอีกด้วย ทำไมถึงต้องทำอย่างนั้น ??? และยังมีเทคนิคการ"เก็บข้อมูลการทำงานของช่วงล่าง" อีก รายละเอียดเหล่านี้รอท่านอยู่ในคอลัมน์แล้วครับ...



เจ้า CIVIC EK9 คันนี้ หากใครเคยอ่าน XO AUTOSPORT เมื่อหลายปีก่อน คงคุ้น ๆ ว่า คันนี้เดิมเป็นรถ Drag ที่ใช้แข่งในอเมริกา สมัยที่ ็"ท่านบอย" สรวงศ์ เทียนทอง ยังเรียนอยู่ที่นั่น พอกลับมาก็ได้"หิ้ว" คันนี้กลับมาด้วย แล้วก็ว่าจะทำแข่ง แต่ก็ไม่ว่างสักที เก็บมานานจนได้ที่ จนมาถึงต้นปี 2007 ทาง DON MoTeC + ทีมงาน VATTANA + ทีมงาน SINGHA + อู่พี่เรือง (Lipo วัชรพล) + อู่ช่างเผือก ก็มีความคิดที่จะปลดระวางเจ้า PROTON SATRIA ที่ทำมาจนคิดว่าเกือบสุดแล้ว (จริง ๆ แล้วอยากวิ่ง 8 เหมือนกัน แต่คงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเอามันมาแข่งกับรถเฟรม) เลยวางโปรเจ็กต์ใหม่ไว้ว่า ถ้าจะได้เวลาเร็วกว่านี้ ก็ต้องเปลี่ยนไปเล่น"รถเฟรม" กันแล้ว...

พอได้ความคิดที่จะทำรถเฟรม เลยมานั่งคุย (ยืนมันเมื่อย) กับทีมช่างไว้ว่า"จะทำรถ Frame ขึ้นมาแข่ง Drag สักคัน" ก็กะไว้ว่า จะหาเวลาว่างหลังเลิกงานประจำ ค่อย ๆ ปั้นมันขึ้นมา ก็ศึกษาข้อมูลการสร้างรถ Drag ให้ละเอียด เพราะเราก็ยังไม่เคยทำรถ Drag ที่เป็น Full Frame มาก่อน
ตรงนี้ก็มีวัตถุประสงค์อีกอย่างที่นอกเหนือจากเรื่องการแข่งขันว่า "ต้องการฝึกทักษะให้กับช่างในด้านการทำรถควอเตอร์ไมล์ิ" เพราะปกติจะทำแต่รถเซอร์กิตเป็นหลัก เลยมีความคิดที่ว่า"ทำรถให้เลี้ยวก็ทำได้ ทำรถให้วิ่งตรงมันก็น่าจะทำได้นะิ" พอได้ข้อมูลก็ลงมือทำ ประกอบกับทาง"บอย เทียนทอง" ก็ปลดระวางรถคันนี้พอดี เลยให้ทางทีมงานจัดการได้ตามใจชอบ โปรเจ็กต์นี้เลยได้เกิดแบบทันควัน...

ส่วนตัวผู้ทำเอง ก็อาศัยการเปิดตำราการทำรถเฟรมเป็นหลัก อีกทางก็จะได้รับคำปรึกษาจากเพื่อนที่เรียนทำรถแข่งอยู่อเมริกาด้วยส่วนหนึ่ง (แว่นอีโวทอง) แล้วนำมาปรับให้เข้ากับมิติตัวถังของ CIVIC ก็เริ่มลงมือสร้าง การขึ้นเฟรมเป็นฝีมือของ"อู่พี่เรือง"พอได้มิติเฟรมที่แน่นอนก็ลงมือ"ตัดรถ" โดยคงโครงที่เป็นชิ้นส่วนประกบด้านข้าง (Side Panel) เอาไว้ เพื่อยังรักษาทรงรถเดิมไว้อยู่ แต่ส่วนอื่น ๆ ก็ "ตัดทิ้ง" ทั้งหมด (ดูรูปประกอบก็จะเห็นครับ) ตอนแรกก็ว่าจะทำแค่เป็น"Back Half Frame" แต่ไป ๆ มา ๆ ช่วง"ซับเฟรมด้านหน้าิ" ดันมีปัญหาซะแล้ว แ-่งลามไปซะ...

จริง ๆ ปัญหามันไม่ใช่อะไรหรอก เพราะเราไปเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนซะเอง เดิมเป็นรถขับหน้า พอจะเอามาวางเป็นระบบ"ขับหลัง" มันไม่ได้กัน ไม่สามารถวางเครื่องลงไปได้ ก็เลยต้องตัดทิ้ง เลยต้องสร้างเป็น Full Frame เบ็ดเสร็จทั้งคัน ส่วนที่ว่าทำไมต้องเป็นขับหลัง ลองอ่านไปเรื่อย ๆ แล้วจะทราบเหตุผลเองครับ ส่วน"เปลือกตัวถัง" ก็สร้างเป็น
"คาร์บอนไฟเบอร" ขึ้นมาใหม่ (ยกเว้นส่วนของ Side panel ยังเป็นเหล็กอยู่) ส่วนของ"พื้น" ก็เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ประสานกันแบบ"รังผึ้ง" (Honey Comb) เพื่อความแข็งแรง เป็นผลงานของ ็"ช่างบัว" ทีม SINGHA ครับ...

พอมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมต้องเปลี่ยนจากระบบขับหน้า มาเป็นขับหลัง มูลเหตุมันมีอยู่นิดเดียวครับ
ก็คือพอมันมี"เด็กพิเรน" ที่บ้าไปซื้อเกียร์ของ HOLINGER (ที่ยังไม่เคยใช้เลย) ซึ่งเป็นแบบ Sequential 6 สปีด ขับเคลื่อนล้อหลังก็เลยได้ไอเดียว่า"มีของอยู่ก็เอามาใช้ิ" จะสั่งใหม่ก็แพงเปล่า ๆ เลยเปลี่ยนระบบเป็น ็"ขับหลัง" ซะเลย ฮาดี ไหน ๆ มาถึงตรงนี้แล้ว ก็พูดถึงเรื่อง"เกียร์" ซะเลยก็แล้วกัน จริง ๆ แล้ว เกียร์ลูกนี้มันก็ยังไม่ค่อย"แมตช์" กับควอเตอร์ไมล์สักเท่าไหร่ เพราะ"จำนวนเกียร์เยอะไป" ทำให้เสียเวลาเปลี่ยนเกียร์มากเกินความจำเป็น ขณะที่เกียร์ลูกนี้ การเฉลี่ยอัตราทดมันก็ดีอยู่แล้ว รอบตกมาอยู่ในช่วง Power Band ที่ต้องการตลอด แต่อย่างไรก็ตาม กำลังจะหาทางปรับเปลี่ยนให้เหลือ"5 สปีด" แล้วเรียงอัตราทดใหม่ให้เหมาะสม ก็น่าจะช่วยเวลาให้ดีขึ้นอีกสัก"จุดหนึ่ง จุดสอง" น่าจะได้...


อ้อ หากใครได้ดูตอนรถคันนี้วิ่ง โดยเฉพาะคนที่อยู่ตอนกลาง ๆ ถึงปลายสนาม ก็จะได้ยินเสียงการเปลี่ยนเกียร์กระแทกตึงๆ เหมือนกับเสียงของระบบ"Air Shift" พอมาดูจริง ๆ ก็เป็นระบบ Sequential ทั่วไปนี่แหละ เพียงแต่เค้าเพิ่มตัว"Shift Solenoid" เข้าไป เมื่อดูรูป จะเห็นมีกระบอกกลม ๆ สีทอง มี Link มายึดที่ด้ามเกียร์ ตัวนั้นเป็นตัวปรับเปลี่ยนเกียร์ ควบคุมโดยชุด Paddle Shift ที่คอพวงมาลัย สามารถ"เพิ่ม" หรือ "ลด" จังหวะเกียร์ได้ตามต้องการ เจ้า Shift Solenoid ก็จะ"ดึง" หรือ"ดัน" คันเกียร์ ตามแต่เราจะสั่ง อันนี้จะมีใช้ในรถแข่งหลายประเภท ไม่เหมือนกับเกียร์ Air Shift อันนั้นจะใช้ "ลม" ในการสั่งการ และจะเป็นการ"เปลี่ยนเกียร์จังหวะสูงขึ้น" (Shift up) เท่านั้น ไม่สามารถทวนเกียร์ต่ำ (Shift down) ลงได้...

นี่ก็เป็นอีกจุดที่คนเริ่มจะสงสัยกันว่า ทำไมบอดี้ HONDA จึงหันไปใช้เครื่องจากค่าย MITSUBISHI ล่ะ ก็ได้รับคำตอบว่า ใจจริงก็อยากจะเล่นเครื่อง HONDA อยู่เหมือนกัน ที่มองไว้ก็เป็นพวก" K Series" ซึ่งมันก็แรงดี หากทำขึ้นมาเต็มชุดล่ะก็โอ.เค. เพียงแต่ด้วยเงื่อนไขของ "เวลาและทุนทรัพย์" ที่มีจำกัด ตอนนี้จุดมุ่งหมายคือ "จะทำยังไงก็ได้ ให้รถวิ่งได้ดีก่อน เพราะอย่างที่ได้กล่าวมา เรากลัวเรื่อง Chassis และ 4 link มากกว่าการทำเครื่องแรง จึงไม่มีเวลาที่จะมาเริ่มต้นใหม่กับเครื่อง HONDA K Series + Turbo ซึ่งยังไม่เคยทำมาก่อน ถ้าจะทำให้สมบูรณ์มันก็ต้อง "กินเวลา" พอสมควร และต้องใช้เวลาในการปรับเซ็ตอย่างอื่นอีก จึงทำไม่ทันแน่ แต่ในอนาคต เป็น HONDA แน่...



การตัดสินใจจึงเกิดขึ้น ด้วยการเล่น "ของคุ้นเคย" นั่นก็คือ "4G63" สเต็ปเครื่องที่วางไว้ก็คงเหมือนกับ PROTON นั่นก็คือ โมดิฟายไส้ในด้วยชุด "TOMEI" 2.2 ลิตร ตอนแรกทำออกมาก็คงไม่ได้เน้นแรงมาก เพราะไม่อยากผลีผลาม รถก็เพิ่งเสร็จ (แตะพื้นล้อหมุนครั้งแรกวันพฤหัสก่อน SOUPED UP) เราต้องการลองรถก่อน เมื่อรถวิ่ง "ตรงจริง ๆ" แล้ว เครื่องแรงไม่น่าเป็นปัญหา แต่ตัวเครื่องก็ทำองค์ประกอบต่าง ๆ ไว้รอแล้ว จึงไม่ยากที่จะเพิ่มแรงม้าทีหลัง ไม่ต้องรื้อออกมาทำใหม่ซ้ำซ้อนอีกที...

จุดแตกต่างระหว่างตอนนั้นกับตอนลงหนังสือนี้ ก็จะมีเรื่อง "เทอร์โบ" ตอนวิ่ง SOUPED UP ที่ผ่านมา ก็ใช้ของ GARRETT GT40 ลูกเล็ก ๆ ตอนที่วิ่งแข่งก็มีแรงม้าอยู่สักประมาณ "750 แรงม้า" (ฉีดไนตรัสแล้ว) ตอนต้นดี ออกดี เพราะ Response ของเทอร์โบมันมาเร็ว แต่ช่วงปลาย ๆ เกียร์ 5-6 ก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะมัน "หมด" แล้ว ความเร็วปลายจึงไม่ Shoot ตามที่ควรจะเป็น แต่ตั้งใจไว้ว่าเน้นเรื่อง "ออกตัว" เป็นหลัก พอหลังงาน SOUPED UP เราก็คิดว่ารถเริ่มปรับ Traction เข้าที่เข้าทางแล้ว ก็เปลี่ยนเทอร์โบเป็น "HKS T51 KAI BB" ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเดิม ก็จะเพิ่มกำลังของเครื่องยนต์ให้มากขึ้นไปอีก...



สำหรับในส่วนของ "ช่วงล่าง" เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ จะต้องมีการ "ปรับเซ็ตที่ถูกหลัก" ด้วย จึงจะได้ความสมบูรณ์และคุ้มค่าแบบสูงสุด การปรับเซ็ตของคันนี้ จะอาศัย "Shock Potentiometer" ก็คือเป็นเซ็นเซอร์ที่วัดการทำงานของช่วงล่าง อันนี้เคยพูดถึงกันไปแล้วบ้าง ซึ่งในบ้านเราก็ยังไม่ค่อยมีใครใช้ ความสำคัญของมันก็คือ "สามารถต่อไปหาจอ MoTeC หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่สามารถเก็บ Data Log" ของการทำงานของช่วงล่างได้ มันจะรายงานผลเป็นกราฟออกมา (เดือนต่อไปเราจะเริ่มเขียนเรื่อง Datalog จริง ๆ จัง ๆ) ทำให้เราทราบว่า ขณะที่รถวิ่ง ช่วงล่างทำงานอย่างไร ทำแบบไหน ยืดหรือยุบ ช้าหรือเร็ว สิ่งเหล่านี้ผู้ที่เซ็ตรถจะต้องทราบ เพื่อปรับให้เข้าหลักการทำงานของช่วงล่างแต่ละแบบ...

เรื่องของการเก็บ Data log ของช่วงล่าง ในบ้านเราก็ถือว่ายังค่อนข้างใหม่ แต่ในต่างประเทศก็ใช้กันเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ซึ่งเท่าที่ดูแล้ว "มีประโยชน์" มาก ๆ เลยทีเดียว อย่างในบ้านเรา ส่วนใหญ่ก็มักจะเน้นจับอาการกันทางด้าน "ความรู้สึก" ของผู้ขับ และมีการสังเกตการณ์จากด้านนอกรถ โดยช่างของทีมนั้น ส่วนใหญ่ก็จะถ่าย VDO เอาไว้ เพื่อดูอาการของรถ แล้วก็มาปรับกันตามวิธีของแต่ละคน แบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดครับ แต่ในบางกรณี ประสาทสัมผัสของคนเรา มันก็อาจจะมีการ "พลาด" กันได้ บางทีเราเห็นว่ารถมันยุบ โช้คอาจจะไม่ยุบ แต่อาจจะไปยุบที่ยางแทนก็ได้ (เนื่องจากล้อมัน "ตบ" ลง จากแนวแรงการหมุนของเครื่องยนต์) เหตุการณ์เหล่านี้มันจะเกิดขึ้นเร็วมาก การสังเกตจึงอาจจะ "ไม่เต็มร้อย" สักเท่าไหร่ ก็อาจจะต้องลองปรับไปเรื่อย ๆ ซึ่งไปถูกทางก็เร็ว ถ้าไม่ถูกทางก็คลำกันลำบากหน่อย...

ดังนั้น การเก็บข้อมูลของช่วงล่าง เมื่อพึ่งเครื่องมืออย่าง Shock Potentiometer ก็จะสามารถเก็บข้อมูลการทำงานของช่วงล่างไว้ได้ แล้วก็นำกราฟมาพิจารณาดูว่า ช่วงไหนรถยุบ ช่วงไหนรถยืด รถเอียงไปทางไหน ช่วงเปลี่ยนเกียร์ โช้คอัพยืด ยุบช่วงไหน ฯลฯ เราก็สามารถปรับแก้อาการให้มีความสมดุลมากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดเวลาได้มาก สามารถรู้อาการที่แท้จริงของตัวรถได้ถ่องแท้กว่า โดยเฉพาะการปรับ "โช้คอัพ" ที่สามารถปรับค่าการ "ยุบ" (Bump) และ "ยืด" (Rebound) ได้หลาย ๆ ตำแหน่ง พวกนี้ถ้าไม่มีข้อมูลก็จะเสียเวลา "คลำ" กันมากมาย เพราะ Combination มันเยอะเหลือเกิน มานั่งปรับทีละจุดก็คงจะไม่ไหว และไม่ได้ใช้ของดี ๆ อย่างเต็มที่ แต่พอมีข้อมูล เราก็จะสามารถปรับได้ตรงกับความต้องการของรถคันนั้นจริง ๆ ของพวกนี้มันไม่ได้มีสูตรตายตัว ต้องปรับแล้วดูอาการเอาเอง ว่ารถคันนี้มีอาการยังไง และจะต้องปรับช่วงล่างแบบไหน เพื่อให้วิ่งได้เสถียรที่สุด เราคิดว่ามันคุ้มมาก ๆ กับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำ Datalog รถคันนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า การใช้ Datalog System และ Sensor ต่าง ๆ ที่ให้ประโยชน์โดยตรง จะสามารถทำให้คนที่ปรับจูนช่วงล่าง "ประหยัดเวลา" และรู้จริง ๆ ว่าต้องปรับ 4 links ไปทางไหน และสามารถรู้ได้ว่าเราต้องปรับโช้คอัพ (Bump + Rebound) ไปทางไหน ไม่ได้ปรับมั่ว ๆ แล้วออกไปวิ่งลอง พอลองไปพักนึงไม่เริ่มงงก็เครื่องพัง ยางหมดซะ...


ตอนนี้รถก็มาถึงกับสิ่งที่ต้องการได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็เหลือเพียงแต่ "การปรับเปลี่ยน" บางอย่าง เช่น เพลาท้ายสั่งของ STRANGE มาใหม่ เวลาออกตัวรถคันนี้ก็สามารถจะออกตัวได้แรงกว่านี้ เปลี่ยนเทอร์โบใหม่ ก็คงจะต้องวิ่งและปรับไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้รถคันนี้มันวิ่งได้เร็วขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง ก็อย่างที่บอกไปแล้วในตอนต้นว่า เอาคันนี้ไว้ "ฝึกฝนช่าง" ในทักษะการแข่ง Drag ให้มีมากขึ้น ตรงนี้ก็ถือว่าได้มาตามสิ่ง ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น...

ต่อไปนี้คือความเห็นจากนักแต่งจากสำนักต่างๆที่มาช่วยกันโม Civic ตัวนี้ครับ

Comment : ดอน เชี่ยวชาญวลิชกิจ (ดอน MoTeC)
รถคันนี้เราทำขึ้นมาโดยอาศัยเวลาว่างจากการทำรถเซอร์กิต เริ่มทำตั้งแต่เดือนมีนาคม ปีที่แล้ว ดูเหมือนใช้เวลานาน แต่จริง ๆ แล้วใช้เวลาไม่นานนัก เพราะในช่วงเดือนเมษายน ก็จะเริ่มมีฤดูกาลแข่งเซอร์กิต ซึ่งเราก็ต้องหยุดการทำรถคันนี้ไป มาเริ่มขึ้นเฟรมอีกทีเดือนพฤษภาคม ช่วงนั้นก็หยุดไปอีก มาเร่งเอาอีกทีช่วงก่อนการแข่ง SOUPED UP ก็เสร็จทันพอดี รถคันนี้ถ้าจะพูดกันตรง ๆ ก็ยังมีความที่ไม่สมบูรณ์แบบเต็มร้อยนัก เพราะมันเป็น "รถคันแรก" ของพวกเรา แต่โดยรวมแล้วก็พอใจ คงเหลือแต่การปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ว่ากันที่รถคันหน้าครับ สำหรับ "ข้อผิดพลาด" ของคันนี้มีอยู่มากครับ โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักของอุปกรณ์ที่เรารีบใส่ไปตอนท้ายตอนรถใกล้เสร็จ จริง ๆ แล้วผมคิดว่าถอดมันออกแล้วใส่อันใหม่ที่เบากว่าแทนได้ แต่ขอโทษ ทีมงานผมมันชอบใส่ไปชั่วคราวก่อน แต่แ-่งใช้ชั่วโคตร !!! ท้ายสุดก็อยากจะบอกว่า "รถคันนี้เป็นสิ่งใหม่มากสำหรับพวกเรา คนที่ทำรถคันนี้ทั้งหมด ไม่เคยมีความรู้เลยในการสร้างรถ Tube Frame และการ Tune up ช่วงล่าง 4 Links แม้แต่นิดเดียว ความตั้งใจก็คือ ผมต้องการให้รถคันนี้เป็นอาจารย์สำหรับทีมงาน เพื่อที่อนาคตพวกเขาอาจจะเห็นว่าเป็นอีกแขนงหนึ่งของความสามารถของพวกเขา ไม่ได้คิดว่ารถคันนี้ต้องเร็วที่สุดในประเทศ แค่เพียงต้องการให้มันวิ่งเร็วที่สุดเท่าที่เราคิดว่าเราทำได้" อีกอย่างก็คือ "ผมแอบชื่นชมรถเฟรมทุก ๆ คัน จริง ๆ ผมคิดว่าคนที่สร้างและ Tune up ช่วงล่างทุก ๆ คันจะต้องมีความพยายามและจินตนาการมากจริง ๆ ขอชื่นชมครับ"

Credits"ดอน MoTeC ขอขอบคุณ"
Sponsor เจ้าประจำที่ไม่เคยทิ้ง "ของถูก" อย่างเรา "พี่ต๊อด" SINGHA, "ตั่วเฮีย" จาก Rivera Caf? (Poseidon), Hang Foreplay, Autobacs ที่ได้รับความช่วยเหลือในการติดต่อจาก พี่ "ปรีดา ตันเต็มทรัพย์" หรือ Nick name "ฝรั่งแข่งรถ", National Brake ที่ไม่เคยทอดทิ้ง (แม้ว่าผมจะใช้ผ้าเบรกยี่ห้ออื่น !!!), XO AUTOSPORT ที่ยังไงก็ต้องช่วย (ใช่มั้ย),"แอม NSX" และที่แน่นอน พี่ชายที่เอ่ยปากเลยว่าพี่ขอลงขันด้วยคน พี่ "สุพจน์ กสิกรรม" K45, Vattana Motorsport สำหรับหัวเกียร์ OMP (???) และอื่น ๆ ในอนาคต, ผลิตภัณท์ Wurth ที่ต้องกล่าวต่อไปคือ หุ้นส่วน "สองพี่น้องงูเห่าเผือก" ถ้าไม่ได้ซื้อเกียร์ HOLINGER ลูกนี้ ไอ้รถคันนี้คงไม่ได้เกิด, พี่ Dome (แว่นอีโวทอง) สำหรับความช่วยเหลือด้าน Technical จาก USA, ทีมงาน "Vattana Motorsport, Singha, Lipo" วัชรพล และที่แน่นอน "พี่ตั้ง" ซึ่งผมให้ชื่อว่าเป็นเจ้าของรถ และ "Boon BRC" คนทำ Tube Frame คันนี้ (สนใจโทร.ไป 08-9110-8095) ถ้าเขียนต่อก็คงขอบคุณไม่หมดจริง ๆ บางคนที่ไม่ได้กล่าวถึงก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ... ป.ล. อันนี้ลืมไม่ได้ ขอขอบคุณจากใจจริง ๆ สำหรับ "ภรรยาที่น่ารักของผม" ที่เข้าใจว่าผมต้องแบ่งเวลาให้กับลูกอีกคนของผม...

Comment : พัชรพงษ์ แสงดี
คันนี้ก็เป็นอะไรที่ "แปลก" แบบคาดไม่ถึง ไม่นึกด้วยซ้ำว่าจะเสร็จทันงานใหญ่ของเรา แต่เมื่อทำออกมาแล้ววิ่งได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีครับ จุดเด่นของรถคันนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้น "4 เม็ด ระบือโลก" ที่เค้าถนัด แรงม้าอาจจะดูไม่มากมายเหมือนคราวก่อนหรือเครื่องที่ใหญ่กว่านี้ แต่ด้วยการที่เซ็ต "ช่วงล่าง" ได้ดี โดยมีหลักการและอุปกรณ์ที่ถูกต้อง อาจจะดูว่าลงทุนเรื่อง Software และอุปกรณ์ ค่อนข้างสูงแต่มันก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ"รถแข่ง" ในปัจจุบันนี้ที่หวังผลเลิศและข้อมูลที่ถูกต้อง ในการแข่งขัน ผมเชื่อว่าทุกคนก็สามารถลงทุนเรื่องนี้ได้สบาย ๆ ก็จะทำให้การเซ็ตรถง่ายขึ้นครับ...

ไม่มีความคิดเห็น: